NU Digital Signature

NU Digital Signature

     มหาวิทยาลัยนเรศวร มีนโยบายในด้าน Digital Transformation ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กรให้เป็นรูปแบบดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งได้มีการส่งเสริมการใช้งานระบบอิเล็กทรอนิกส์และการทำงานในรูปแบบ Paperless เพื่อช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรในองค์กรให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

     ซึ่งในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้เปิดให้บริการการขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) https://cert.nu.ac.th/ สำหรับการใช้งานลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งออกใบรับรองจากผู้ให้บริการ Thai University Consortium (TUC) ที่มีความน่าเชื่อถือและพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ ตามมาตรา 9 มาตรา 26 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการนำลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) มาใช้งานในเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สามารถช่วยในการยืนยันความถูกต้องของเอกสาร ช่วยลดความเสี่ยงในการปลอมแปลงเอกสาร และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้กระดาษและยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อีกด้วย

————————————————————–

Digital Signature

     ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่ง ที่ใช้การเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีใบรับรอง (License) เพื่อยืนยันตัวตนเจ้าของ สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่อได้ มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถือโดยการลงนามผ่านระบบ Digital Signature สามารถตรวจได้ว่าใครเป็นผู้ลงนาม และมีการแก้ไขข้อมูล หรือลายมือชื่อในเอกสารหลังลงนามหรือไม่ ประกอบด้วย

Signer Authentication

เป็นความสามารถในการพิสูจน์ว่า
ใครเป็นคนเซ็นเอกสารด้วย Digital Signature
ซึ่งสามารถเชื่อมโยง ไปยังบุคคลที่เซ็นเอกสารได้อย่างแม่นยำ

Data Integrity

เป็นความสามารถในการตรวจสอบหรือพิสูจน์ลายเซ็นนั้นว่า
ได้มีการแก้ไขเอกสารหลังจากทีมีการเซ็นไปแล้วหรือไม่
เพื่อเป็นมาตรการความปลอดภัยของการเซ็น Digital Signature

Non-repudiation

เมื่อเอกสารที่ผ่านการเซ็น Digital Signature
และทำการส่งไปแล้ว
มั่นใจได้ว่าเอกสารนั้นจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเนื้อหาระหว่างการส่ง

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.dittothailand.com/dittonews/gov-what-is-digital-signature/

————————————————————–

Digital Signature ต่างจาก e-Signature อย่างไร?

e-Signature

     ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้ในการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างตัวเจ้าของกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเลือกใช้ได้ทั้ง อักษร อักขระ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ต่างๆ มาสร้างเป็นชุดข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และใช้เทคโนโลยีเข้ารหัสเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของ โดยส่วนใหญ่จะมาให้รูแบบ e-Mail การกรอก Username/Password หรือการกดปุ่มยอมรับ

Digital Signature กับ e-Signature จึงมีความแตกต่างกันตรงที่

รูปแบบการเข้ารหัส รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัย
ซึ่ง Digital Signature จะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนากว่า
สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนกว่า
ด้วยการยืนยันตัวตนของเจ้าของที่เซ็นเอกสารจากใบรับรอง (License)
สามารถป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ดีกว่า e-Signature

» ทั้ง Digital Signature กับ e-Signature มีผลทางกฎหมายทั้งคู่ และมีผลเช่นเดียวกับการเซ็นลงบนกระดาษ (ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ) «
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.dittothailand.com/dittonews/gov-what-is-digital-signature/

————————————————————–

Digital Signature กับ e-Signature ควรเลือกใช้แบบไหนดี?

     เลือกใช้แบบไหนก็ได้ โดยพิจารณาตามความเสี่ยงของการนำไปใช้งาน กรณีเอกสารที่มีความสำคัญสูง ต้องการความมั่นคงปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นคนลงนาม และตรวจสอบได้ว่ามีการแก้ไขเอกสารหลังลงนามหรือไม่ ให้เลือกใช้งานแบบ ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/2021-ETDA-FAQ-Ep1-eSignature.aspx

————————————————————–

Digital Signature มหาวิทยาลัยนเรศวร

     กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (CITCOMS) ได้พัฒนาและเปิดให้บริการระบบออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ https://cert.nu.ac.th เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้งานแบบ Digital Signature ของบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมีใบรับรอง Intermediate CA (Certificate Authority) ภายใต้ Thai University Consortium (TUC) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาขึ้น และเปิดให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม

     โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้สมัครเข้าร่วม TUC เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา และยังได้รับการสนับสนุน Foxit PDF Editor จาก อว. เพื่อสนับสนุนการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Document)

————————————————————–

การใช้ Digital Signature บน Web Browser

     การใช้งาน Digital Signature บน Web Browser เป็นการรับรองเอกสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสร้างลายมือชื่อ แต่ผู้ใช้งานจะต้องทำการยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของตัวบุคคล ซึ่งการใช้งานบน Web Browser เป็นการใช้งานที่ง่ายและสะดวกต่อการรับรองเอกสาร อีกทั้งยังสามารถส่งต่อเอกสารไปยังบุคคลถัดไปให้ทำการรับรองเอกสารได้ โดยเอกสารจะปรากฎรายชื่อผู้รับรองเอกสารทั้งหมด ทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่า เอกสารนั้นๆ ผ่านการรับรองจากบุคคลใดบ้าง

การใช้ Digital Signature บนโปรแกรม Adobe Acrobat Reader

     การทำงานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Paperless เป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งและรับเอกสาร และมีการเก็บเอกสารในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถเข้าถึงเอกสารได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งหากใช้งานร่วมกับลายมือชื่อดิจิทัล หรือ Digital Signature ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการยืนยันความถูกต้องของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้วิธีการเข้ารหัสข้อมูลและการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร

การใช้งานลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) บนโปรแกรม Adobe Acrobat Reader
เพื่อใช้ในระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document)

————————————————————–

     โปรแกรม Adobe Acrobat Reader นอกจากจะมีความสามารถในการอ่าน แสดงผล และพิมพ์ข้อความลงในไฟล์ที่อยู่ในรูปแบบ PDF แล้วยังสามารถเพิ่มลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ลงบนเอกสาร PDF ได้อีกด้วย ทั้งนี้ สามารถใช้งานควบคู่กับระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ของมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยให้การทำงานของบุคลากรในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการใช้ Digital Signature บนโปรแกรม Adobe Acrobat Reader

1. การสร้างลายเซ็นดิจิทัล (e-Signature) ด้วยโปรแกรม Microsoft Word
2. การติดตั้งโปรแกรม Adobe Acrobat Reader
3. การขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ออกโดย Thai University Consortium (TUC)
4. การติดตั้งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ User Certificate
5. การติดตั้งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ Trust Root CA
6. การสร้างลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยโปรแกรม Adobe Acrobat
7. การเพิ่มใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือ (Add to Trusted Certificate)
8.
การตรวจสอบลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature)
9. การใช้งานลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยโปรแกรม Adobe Acrobat
10. การสร้างตรายางดิจิทัล (Stamp) ด้วยโปรแกรม Microsoft Word
11. การนำตรายางดิจิทัล (Stamp) ไปใช้ที่โปรแกรม Adobe Acrobat
12 . ขั้นตอนการรับ-ส่งหนังสือราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

การใช้ Digital Signature บนโปรแกรม Foxit PDF Editor Pro

โปรแกรม Foxit PDF Editor Pro

     โปรแกรม Foxit PDF Editor Pro เป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้งานสามารถเปิดอ่าน และแก้ไขเนื้อหาภายในเอกสารได้โดยไม่จำเป็นต้องแปลงไฟล์ก่อน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานกับเอกสาร PDF ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การแปลงไฟล์เอกสาร (Convert PDF Document) การเติมลายน้ำ (Add Watermark) การวมไฟล์ (Merge File) การใส่รหัส (Add Password) การจัดเรียงหน้า หรือการสลับหน้า (Sort Page) การแก้ไขหรือลบข้อความ รวมถึงการใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) เพื่อสนองนโยบายไร้กระดาษ (paperless policy) เนื่องจาก สามารถทำงานหรือจัดการกับเอกสารผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด รวมถึงการกรอกแบบฟอร์ม และเซ็นเอกสารด้วย ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารในรูปแบบของกระดาษและไม่เสียเวลาในการส่งเอกสารไปมา

     โดยสามารถ Download หรือใช้งานโปรแกรมได้ 4 รูปแบบ ดังนี้

      1. Windows (Download Foxit PDF Editor Pro 12 for Windows)
      2. Macbook (Download Foxit PDF Editor Pro 12 for Mac)
      3. อุปกรณ์ Mobile (Android / iOS)
      4. การใช้งานบนระบบ Cloud ของ Foxit 

     ผู้ใช้งานสามารถ Activate License การใช้งานได้ถึง 2 อุปกรณ์ ด้วย e-Mail ของมหาวิทยาลัย

การใช้งานลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) บนโปรแกรม Foxit
เพื่อใช้ในระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document)

————————————————————–

      โปรแกรม Foxit PDF Editor Pro นอกจากจะสามารถแก้ไขเอกสาร PDF ได้แล้ว ยังมีความสามารถในการสร้างลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) เพื่อใช้งานควบคู่กับระบบงานสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ของมหาวิทยาลัย โดยผู้ที่มีความประสงค์ใช้งานจะต้องทำการยืนยันตัวตน เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง เนื่องจากการใช้งาน Digital Signature จะเทียบเท่าการลงลายเซ็นบนเอกสารที่เป็นกระดาษ

Loading